ประวัติหลวงพ่อพริ้ง

ประวัติพระครูธรรมสารรักษา (พริ้ง วชิรสุวณฺโณ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดวรจันทร์  และรองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี

ชาติภูมิ
      พระครูธรรมสารรักษา  นามเดิมชื่อพริ้ง  เกิดปีเถาะ  ตรงกับพุทธศักราช 2409 บ้านอยู่ทางใต้ประตูน้ำวัดพร้าวฝั่งตะวันตก  ตำบลโพธิ์พระยา  จ.สุพรรณบุรี
     โยมผุชายชื่อเตียบ  โยมผู้หญิงชื่อเรียน  ตระกูลนี้ต่อมาใช้สกุลว่า"เตียบฉายพันธุ์" คือหมายความเอาชื่อเตียบโยมผู้ชาย  กับนายฉาย  พี่หัวปีเป็นเกณฑ์  พระครูธรรมสารรักษามีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเป็นผู้ชายทั้งหมด คือ  
     1.นายฉาย
     2.นายลด
     3.หลวงพ่อพริ้ง
     4.นายพร้อม
     5.นายเลี่ยม

การศึกษา
     เมื่ออายุ 12 ปี  โยมทั้งสองได้นำตัวไปฝากวัดพร้าว  ในสำนักพระครูปลื้ม  ปรากฎว่าท่านเป็นเด็กดี  สติปัญญาเชียบแหลม  สามารถเรียนหนังสือไทย  หนังสือขอมและท่องหนังสืสวดมนต์ได้แม่นยำรวดเร็ว  ท่านสามารถท่องพระปาฏิโมกข์จบตั้งแต่ตัวท่านยังเด็ก  เม่ออายุย่างเข้าวัยหนุ่ม  ได้ลาอกจากวัดไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำนา  มีหลักฐานมั่นคง  มีบ่าวใช้  ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2431 อายุได้ 21 ปี  ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ที่พัทธสีมาวัดพร้าว  ต.โพธิ์พระยา  มีฉายาว่า "วชิรสุวณฺโณ" โดยหลวงพ่อแก้ว  เป็นอุปัชฌาย์  พระครูปลื้มเป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระครูอินทร์เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นพระอนุสาวนาจารย์  เมื่ออุปสมบทแล้วหลวงพ่อพริ้งได้ศึกษาเล่าเรียนกับพระครูอินทร์วัดพร้าว 1 พรรษา  แล้วพระครูอินทรย์นำไปฝากศึกษาเล่าเรียน ณ สำนักวัดพระธาตุ  ท่าพระจันทร์  นครหลวงกรุงเทพธนบุรี  ประมาณ 7 พรรษา  แล้วกลับมาอยู่วัดพร้าวตามเดิม  พร้อมด้วยความรู้คือแปลปริยัติธรรมได้  สามารถแสดงธรรมได้ด้วยปากเปล่าเป็นอย่างดี  แต่มิได้แปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง  เพราะในสมัยนั้นนานๆจะมีการแปลพระปริยัติธรรมกันครั้งหนึ่ง  ครั้งเมื่อบวชได้ 10 พรรษา ฝนแล้ง  ชาวโพธิ์พระยาขาดแคลนข้าวเดือดร้อนเป็นอันมาก  ประจวบกับพระภิกษุที่วัดพร้าวมีมาก  ออกบิณฑบาตไม่ใคร่พอฉัน  พระภิกษุต่างก็ย้ายที่อยู่กันไป  ส่วนหลวงพ่อพริ้งได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองผักนาก  อ.สามชุก 1 พรรษา  แล้วกลับมาอยู่ที่วัดพร้าวอีก 5 พรรษา  ในตอนนี้นับพรรษาได้ 16 พรรษา

     ต่อมาทางวัดวรจันทร์ขาดเจ้าอาวาส   ประชาชนจึงพร้อมกันมาอาราธนาหลวงพ่อพริ้ง  ให้มาเป็นเจ้าอาวาส ณ วัดวรจันทร์  เพราะเป็นเถระผู้ใหญ่แล้ว  เม่ื่อท่านเป็นเจ้าอาวาส  ท่านได้เริ่มบูรณะวัดเป็นการใหญ่ โดยที่ท่านประกอบด้วยพรหมวิหารอย่างสูง  ประกอบกับรูปลักษณะของท่านเป็นที่เคารพของบุคคลทั่วๆไป  
      สภาพของวัดวรจันทร์  ก่อนที่หลวงพ่อพริ้งจะมาเป็นเจ้าอาวาส  มีกุฎีฝากระดานหลังคามุงจากอย่างดี หนึ่งหลังเท่านั้น นอกจากนั้นหลวงพ่อพริ้งท่านได้ดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติม กุฎีหอสวดมนต์  ศาลาท่าน้ำและอื่นๆอีก